นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2561) ลดลงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 120) โดยลดลง 07% อยู่ที่ระดับ 91.66
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มสถาบันภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดือนก่อนจาก Zone ซบเซา (Bearish) มาอยู่ที่ Zone ทรงตัว (Neutral)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนพฤษภาคมเคลื่อนไหวปรับฐานในทิศทางลดลงอยู่ในกรอบระหว่าง 1724-1791 โดยดัชนีฯยังคงมีการปรับฐานจากการคาดการณ์นโยบายทางการเงินของสหรัฐ ที่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย Bond Yield สหรัฐปรับขึ้นมาที่ 3% และแรงขายสุทธิต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตาม แม้ว่านักลงทุนผ่อนคลายความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่การเจรจามีความคืบหน้า โดยสหรัฐเลื่อนการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่อจีนในช่วงนี้

ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากตัวเลขไตรมาสที่ 1 GDP มีการขยายตัว 4.8% และตัวเลขการลงทุนภาครัฐกลับมาเพิ่มขึ้น 4.4%  ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง และความชัดเจนในการกำหนดวันการเลือกตั้ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ทยอยตัวเพิ่มขึ้น ที่อาจส่งผลต่อการพิจารณานโยบายทางการเงินของกนง. สำหรับปัจจัยต่างประเทศจากนโยบายทางการเงินสหรัฐ และนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรปที่กำลังพิจารณาการปรับลดมาตรการ QE ในช่วงปลายปีนี้ ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุด โดยมีประเด็นติดตามความชัดเจนของผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า และนโยบายทางการเงินของสหรัฐต่อนโยบายทางการค้าและนโยบายทางการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ การปรับตัวผันผวนของราคาน้ำมันหลังจากมีการเคลื่อนไหว 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และสถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศในยุโรป ที่อาจส่งผลต่อนโยบายทางการเงิน”