นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนเมษายน 2561

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2561) ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) (ช่วงค่าดัชนี 120 – 160) โดยลดลง 02% จากเดือนก่อนที่เป็น 143.09
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงจากการสำรวจเดือนก่อน แต่ยังอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มสถาบันภายในประเทศกับกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดียวกับเดือนก่อน
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนมีนาคมเคลื่อนไหวในลักษณะปรับฐานราคาเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า มีการแกว่งตัวค่อนข้างกว้างอยู่ในช่วง 1761-1825 จุด แต่ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวใกล้เคียง 1800 จุด โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่การปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และความกังวลในนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ว่าจะลุกลามจนเป็นสงครามทางการค้าหรือไม่

ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นใน SET Index จากความคาดหวังในเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน แต่จะต้องติดตามความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้หรือไม่ หลังจากขึ้นไปแล้ว 0.25% ในเดือนมีนาคม ซึ่ง 2 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่เริ่มมีการบังคับใช้ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ขนาดไหน ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ 1. นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของยูโร ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ แต่มีแนวโน้มจะทยอยลดลงในช่วงปลายปี  2. GDP ปี 2017 ของญี่ปุ่น ขยายตัวได้  1.7% จาก 0.9% ในปีก่อน และ 3. จีนกำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2018 เป็น  6.5% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ”