“ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับลงสู่เกณฑ์ ‘ซบเซา’

 นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 ปัจจัยฉุดคือการตรึงดอกเบี้ยของเฟดและสถานการณ์เงินเฟ้อ

————————————————————————————

                                                                      FETCO Press Release: วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–31 มกราคม 2567)  พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 77.55 ปรับลดลง 43.4% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” โดยนักลงทุนมองว่าการการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่  การตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)  รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมกราคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ปรับลดลง 43.4% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 55
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED

 

ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 26.9% อยู่ที่ระดับ 87.50 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 12.5% มาอยู่ที่ระดับ 87.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 13.5% อยู่ที่ระดับ 138.46 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 60.0% อยู่ที่ระดับ 60.00

 

SET Index ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเดือนมกราคม จากความกังวลของนักลงทุนต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ซึ่งขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึงภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวลง 1% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความกังวลต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่คาดว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีนและความความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน  อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในแถบตะวันออกกลางที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 ปิดที่ 1,364.52 ปรับตัวลดลง 3.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2567 ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,111 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 30,870 ล้านบาท

 

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางการดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ และ ยุโรป นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนโดยเฉพาะมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดทุนจีนซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินถึง 2 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนปี 2566 ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังรัฐบาลไทย—จีน ลงนามข้อตกลงยกเว้นการใช้วีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศระหว่างกันที่จะเริ่ม 1 มีนาคม 2567 นี้ ความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลการประชุม กนง.นัดแรกของปี 2567 ซึ่งต้องจับตามองการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายและประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ”