นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกรกฎาคม 2561

ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2561) เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 120) โดยเพิ่มขึ้น 55% อยู่ที่ระดับ 101.33
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดือนก่อนจาก Zone ทรงตัว (Neutral) มาอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนมิถุนายน เคลื่อนไหวในทิศทางลดลงตลอดเดือน จากระดับสูงสุดในช่วงต้นเดือนที่  1737 จุด มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ทำให้ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1595 จุดในช่วงปลายเดือน โดยมีปัจจัยจากแรงขายสุทธิต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาและความกังวลถึงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า และการลงทุน ที่มีแนวโน้มขยายตัวระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ทั้งประเทศจีนและกลุ่มอียู รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่มีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้

ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศจากตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค.ขยายตัว 11% และกนง.ปรับคาดการณ์ GDP Growth ปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 4.1% เป็น 4.4% และนักลงทุนเชื่อมั่นว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีอัตรากำไรในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตามนักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองและกำหนดวันเลือกตั้งที่คาดว่าจะเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 และเงินทุนไหลออกจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด โดยประเด็นติดตามยังคงเป็นความชัดเจนของผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า นโยบายกีดกันการลงทุนของสหรัฐและประเทศคู่ค้าหลัก และอาจขยายไปสู่ประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อนโยบายทางการเงินของสหรัฐ สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ สถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศในยุโรปยังมีความไม่แน่นอน หลังจากที่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ของเยอรมัน และนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรป และแนวโน้มความผันผวนของราคาน้ำมันจากการประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค เพื่อรองรับชดเชยอุปทานที่ลดลงจากเวเนซูเอลาและการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านของสหรัฐ”