“ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ ต่อเนื่อง

 นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจไทยพื้นตัว

 ปัจจัยฉุดคือเงินทุนไหลออกและเฟดตรึงดอกเบี้ย

—————————————————————-

                                                                      FETCO Press Release: วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมีนาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–31 มีนาคม 2567)  พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.91 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและคาดหวังเงินทุนไหลเข้า ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่  การไหลออกของเงินทุน รองลงมาคือนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)  และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมีนาคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ที่ระดับ 106.91 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลออกของเงินทุน

 

ผลสำรวจ ณ เดือนมีนาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน ลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด  6.5% อยู่ที่ระดับ 107.58 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 14.3% มาอยู่ที่ระดับ 114.29 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 16.1% อยู่ที่ระดับ 141.67 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัว อยู่ที่ระดับ 100.00

 

ตลอดเดือนมีนาคม 2567 SET Index แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง  1,359.26 ถึง 1,394.93 เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุน และนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาลงทุนมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีที่หนุนตลาด หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงดอกเบี้ย ที่ระดับ 5.25—5.50% ตามคาดและส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้  ทั้งนี้ SET Index ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 ปิดที่ 1,377.94 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% จากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมีนาคม 2567 ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,717 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 41,239 ล้านบาท  โดยตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 68,862 ล้านบาท

 

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ  FED ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารอังกฤษมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยเฉพาะในรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาปะทุอีกครั้ง ซึ่งมีส่วนต่อการตัดสินใจในการถือครองสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น ทองคำ ที่ราคาปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งภาพรวมการฟื้นตัวของภาคการผลิตจีนซึ่งส่งสัญญาณบวกต่อภาคการส่งออกของไทย ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกระตุ้นตลาดหุ้น  แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และความชัดเจนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล”