“ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ทรงตัว”

 นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้าและนโยบายหยุดขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

 ปัจจัยฉุดคือเศรษฐกิจในประเทศถดถอย และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

——————————————————————-

 

FETCO Press Release: วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–30 พฤศจิกายน 2566)  พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.60 ปรับขึ้น 23.8% จากเดือนก่อนหน้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของ FED ในการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสถานการณ์เศรษฐกิจจีน

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ปรับขึ้น 23.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 60
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าของเงินทุน
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

 

ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 41.0% อยู่ที่ระดับ 92.50 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 16.9% อยู่ที่ระดับ 85.71 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 35.7% อยู่ที่ระดับ 135.71และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 20.0% อยู่ที่ระดับ 100.00

 

SET Index มีความผันผวนตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2566 จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังไม่คลี่คลาย ความไม่แน่นอนของธนาคารกลางสหรัฐในการคงหรือขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3/2566 ออกมาต่ำกว่าคาดโดยขยายตัวเพียง 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8% ส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ปิดที่ 1,380.18 ปรับตัวลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 45,804 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 21,132 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 192,153 ล้านบาท

 

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นน้ำมัน และทอง สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส การเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศที่ปรับตัวลงซึ่งอาจส่งผลเชิงบวกต่อเงินทุนที่จะไหลเข้ามายังกลุ่มตลาด emerging market ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่  ปัจจัยหนุนตลาดทุนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน  (ThaiESG) ที่คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินให้ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้กว่าหมื่นล้านบาทภายในช่วงเดือนธันวาคม 2566 การเร่งอนุมัติร่างงบประมาณปี 2567 เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินมาอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนของมาตรการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล และสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวในช่วง High season โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ไว้”