“ผลสำรวจดัชนีฯ ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ปรับอยู่ในโซนทรงตัว

นักลงทุนกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่นักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

—————————————————————————————————————————-

FETCO Press Release: วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563

 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพฤษภาคม2563 ว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวหลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาติดต่อกันสามเดือน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงความกังวลหาก COVID-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง”

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนเมษายน 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยเพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 40
  • ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายภาครัฐ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

 

“ผลสำรวจ ณ เดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวหลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาติดต่อกันสามเดือน ทุกกลุ่มปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ซบเซา

ในช่วงเดือนเมษายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม จากปัจจัยในประเทศที่ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา อาทิ การออกพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยวงเงิน 9 แสนล้านที่ออกมาช่วย SMEs และออกกองทุน BSF เพื่อประคองตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น  โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,100 – 1250 จุด จากนั้นดัชนีปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจนจากมาตรการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 SET index ปิดที่ 1,301.66

 

ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงความกังวลหาก COVID-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนเชื้อไวรัสโควิด19 การระบาดรอบสองหลังหลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความกังวลเรื่อง Trade war ระหว่างสหรัฐ – จีนที่ต้องจับตามอง สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือ การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 การออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาตลาดแรงงานทั้งลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs

 

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนพฤษภาคม 2563

ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดว่า กนง. น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 0.75% ในการประชุม เดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 10 สัปดาห์ข้างหน้า นับจากวันที่สำรวจ (17 เม.ย. 63) เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าแม้ กนง. อาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจมีอุปทานเพิ่มมากขึ้นจากการออกพันธบัตรของภาครัฐมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อระดมทุนรองรับและบรรเทาผลกระทบจากการล็อคดาวน์

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนพฤษภาคมนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16 สูงขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ลดลง (Decrease)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนพฤษภาคมนี้ อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับร้อยละ 0.75 จากปัจจัยหลักคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มติดลบ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ การไหลออกสุทธิของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ
  • ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. มิถุนายน 2563 (ประมาณ 10 สัปดาห์ข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 42 และ 39 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากระดับ 0.7% และ 1.39% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (17 เม.ย. 63) โดยปัจจัยหนุนสำคัญคืออุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund Flow ต่างชาติ