ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงมาอยู่เกณฑ์ซบเซาเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ซบเซา หากพิจารณารายกลุ่ม กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาจากเกณฑ์ทรงตัวในเดือนก่อน ขณะที่กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ซบเซามาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม

ในช่วงเดือนมกราคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยช่วงต้นเดือน ดัชนีทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 1600 จุด จากนั้นปรับตัวลดลงมากในระยะสั้นมาอยู่ที่ระดับ 1550 จุดจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน และฟื้นตัวขึ้นโดยได้รับผลดีจากการลงนามข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ระหว่างสหรัฐและจีน โดยดัชนีทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1600 จุดในช่วงกลางเดือน จากนั้นดัชนีเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมากจากร่างพรบ.งบประมาณล่าช้าและปัญหาการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโคโรน่าในจีนและการห้ามนักท่องเที่ยวจีนกรุ๊ปทัวร์เดินทางไปยังต่างประเทศ โดยดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1510-1520 จุด ในช่วงปลายเดือน โดยทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่นักลงทุนกังวล การท่องเที่ยวจากปัญหาเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวจีนในไทยเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากเชื้อไวรัสโคโรน่า ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการลงนามข้อตกลงทางการค้าขั้นที่ 1 ทิศ ทางนโยบายทางการเงินและนโยบายทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว แนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง ผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการไหลเข้าออกของเงินทุน