“ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงอย่างมาก ครั้งแรกในรอบสองปี

นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจในการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การเมืองในประเทศและการถดถอยของเศรษฐกิจไทย

—————————————————————————————————————————-

FETCO Press Release: วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า “ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 161.41 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 161% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” เป็นครั้งแรกในรอบสองปี นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงผลสำเร็จของวัคซีนป้องกัน Covid-19 สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ  และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ”

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” (ช่วงค่าดัชนี 160 – 200) ครั้งแรกในรอบ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 161.41 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 161%
  • ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศ ปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” และความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก”
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงาน (ENERGY)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าออกของเงินทุน
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศ

“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 91% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 167% อยู่ที่ระดับ 166.67 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 150% อยู่ที่ระดับ 156.52 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 338% อยู่ที่ระดับ 175.00

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 SET index ฟื้นตัวแรงตอบรับข่าวดีทั้งจากปัจจัยนอกประเทศ ที่ได้รับข่าวความสำเร็จของวัคซีนป้องกัน Covid-19 ทั้งของ Pfizer/BioNTech, Moderna และ AstraZeneca  ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติด Covid-19 สูง อีกทั้งข่าวความชัดเจนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 รวมถึงข่าวดีจากปัจจัยในประเทศจากการประกาศ GDP ไตรมาส 3/2563 แม้จะยังหดตัวที่ -6.4% แต่นับว่าปรับตัวดีกว่าคาดการณ์ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้าหลังมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผ่อนคลายลง จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นบวกสุทธิเป็นเดือนแรกของปี โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน SET Index ปิดที่ 1,408.31 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากเดือนก่อนหน้า

นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงผลสำเร็จของวัคซีนป้องกัน Covid-19 สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ  และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่  การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา และการเริ่มดำเนินการตามนโยบายของนาย โจ ไบเดน สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปหลังเพิ่มความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดระลอกสองของ Covid-19 ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาตรการภาครัฐในกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเอกชนเพิ่มเติม และการทยอยอนุมัติงบประมาณให้แก่โครงการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนธันวาคม 2563

ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากการสำรวจเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจปรับตัวลดลงเนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีเม็ดเงินจากการซื้อกองทุนเข้ามาในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นและอาจมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้นจากปัจจัยด้านการเมืองสหรัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นและนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีไบเดนที่มีแนวโน้มประนีประนอมมากกว่าทำให้เงินลงทุนจากสหรัฐไหลเข้า Emerging Markets มากขึ้น

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนธันวาคม 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนธันวาคมนี้อยู่ที่ระดับ 46 ลดลงเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนธันวาคมนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว และ กนง. อาจต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น ถ้าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแอ และมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ส่งผลอาจทำให้ ธปท. ตัดสินใจลดดอกเบี้ย
  • ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” โดยปรับตัวลดลงจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.84% และ 1.41% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (23 พ.ย. 63)  โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund Flow ต่างชาติ