“ต่างชาติและนักลงทุนกังวลนโยบายการค้าของสหรัฐและแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ
ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) สถาบันในประเทศยังคงเชื่อมั่นการขยายตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ
ส่งผลให้ดัชนีฯ กลับมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว

ดร. คเณศ วังส์ไพจิตร เลขาธิการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมีนาคม 2560 “ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงกลับไปอยู่ในภาวะทรงตัว หลังจากที่ดัชนีเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อนแรงในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นทั่วโลกยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเป็นปัจจัยหนุนสำหรับตลาดทุนไทย” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤษภาคม 2560) อยู่ที่ 24 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0 – 200) ปรับตัวลดลง 8.58% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 120.59
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มสถาบันในประเทศอยู่ในระดับร้อนแรง ขณะที่ดัชนีนักลงทุนต่างชาติและรายบุคคลปรับตัวลดลงโดยยังคงอยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดเหล็กเป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเจริญเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความผันผวนของกระแสเงินทุนเข้า-ออก

“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงรอความชัดเจนจากการดำเนินการนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการนโยบายปฏิรูปภาษี การกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ตลอดปี 2560 นี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายทางเศรษฐกิจที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในกลุ่มประเทศในยุโรป และความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับ Brexit ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดทุนในภูมิภาคมีความผันผวนตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและเงินทุนไหลเข้าออกในภูมิภาค”

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า “ปัจจัยสำคัญภายนอกที่จะมีผลต่อตลาดทุนต่อไป คือการที่คณะกรรมการ FOMC มองว่า FED Fund Rate น่าจะอยู่ที่ 1.25%-1.50% ในปีนี้ หมายความว่า FED น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงเวลาที่เหลือ ส่วนดอกเบี้ย FED Fund Rate ในระยะยาวนั้น FOMC มองว่าจะอยู่ที่ 3.0%  ในขณะที่ตัวเลข PMI ของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีนยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น โดยเฉพาะจีนและยุโรป ขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับเดิม และตัวเลขการส่งออกปรับขึ้นชัดเจนในสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกในจีน ยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ได้ปรับดีขึ้นมากนัก”

“ด้านการส่งออกของ ASEAN มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ 4Q15 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นในรอบที่ผ่านมา ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียมีการส่งออกที่ฟื้นตัว เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ยางพารา และสินค้าอิเล็กโทรนิคส์”

“สำหรับตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึง 17 มีค 60 ดัชนีบวกจากสิ้นปีก่อน 1.17% ซึ่งสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม ASEAN5 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า เป็นบวก 2.5%-8.9%  ซึ่งนางวรวรรณ มองว่าเป็นผลจากตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วค่อนข้าง Outperform เพื่อนบ้าน (+19.8%) จึงเป็นธรรมดาที่ดัชนีตลาดหุ้นเพื่อนบ้านจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงนี้ โดยตลาดหุ้นไทยนั้นต่างชาติขายออกไปแล้ว 13,400 ล้านบาท หลังจากที่ปีที่แล้ว Net buy เข้ามาประมาณ 78,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เงินยังคงไหลออก ทั้งนี้ ถ้ามองเรื่องการขยายตัวของอัตราผลกำไรของ บจ.ในตลาดฯ ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8.82% นำโดยกลุ่ม Media (ฐานต่ำจากปีที่แล้วที่มีการระงับเรื่องบันเทิง) Transportation, Tourism, และ Property  ขณะที่คาดว่าอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์จะมี EPS growth ปีนี้ที่สูงกว่า โดยอยู่ที่ 55% กับ 14.5% จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นเหล่านี้เดินหน้า Outperform ไทยในช่วงไตรมาสแรก”

“ด้านเศรษฐกิจในประเทศนั้น การลงทุนภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง  6.7% จากหลายโครงการที่เริ่มประมูลไปแล้ว แม้จะน้อยกว่าปี 2559 แต่เป็นเพราะฐานที่สูงในปีก่อน เนื่องจากขยายตัวสูงมา 2 ปีต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการส่งออกกำลังเริ่มฟื้นตัวจากปี 2559 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและการค้าโลกเริ่มมีภาพเชิงบวก ขณะที่ผลของราคาทำให้มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบ แต่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะเริ่มเห็นการขยายตัวดีขึ้น แม้จะยังไม่เติบโตมากตามการลงทุนภาครัฐ”

“การใช้จ่ายภาคเอกชนปีนี้คงจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากปีที่แล้วมีฐานสูงจากยอดขายรถยนต์ ส่วนในช่วงต้นปีนี้ก็น่าจะชะลอลงบ้างเพราะปลายปีก่อนมีการโหมใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งหลังของปีนี้คงจะมีพระราชพิธีสำคัญ ซึ่งถ้าเป็นช่วงปลายปีก็มีผลต่อการเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นปี เพราะประชาชนคงจะยังเศร้าโศกจนไม่อยากเฉลิมฉลอง” นางวรวรรณ กล่าว

———————————————-

ท่านสามารถ Download ข้อมูลฯ เดือนมีนาคม 2560 ได้ที่นี่
รายงาน FETCO Investor Confidence Index
Press Release